นอนกรนอันตรายไหม??
เด็กนอนกรน เสียงหายใจเหมือนเป่าปี่ สังเกตให้ดี! ต้นเหตุของต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต
ลูกนอนกรน พ่อแม่สังเกตให้ดี!! เด็กนอนกรน เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในทุกประเทศทั่วโลก และมักถูกละเลยโดยผู้ปกครองซึ่งมักคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอันตรายใดๆ แต่แท้จริงแล้ว ลูกนอนกรน อาจเป็นอาการเบื้องต้น หรือ สัญญาณเตือนโรคบางอย่าง
ระวัง! เด็กนอนกรน เสียงหายใจเหมือนเป่าปี่
ปัญหาอาการ เด็กนอนกรน แม้จะพบได้ไม่บ่อย และยังเป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ความจริงแล้วเป็นปัญหาที่อันตรายต่อสุขภาพของเด็กถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภาวะนอนกรนจะพบในเด็กที่มีอายุระหว่าง 2 – 6 ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ ที่ทำให้เกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจจนเกิดเสียงกรนที่เป็นภาวะอันตราย
งนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องสังเกตให้ดี และรู้จักอาการต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต เพื่อจะได้รับมือทัน หากลูกของเรามีความเสี่ยง!! จึงขอคำแนะนำเกี่ยวกับ การสังเกตอาการ เด็กนอนกรน แบบไหนเสี่ยง เป็นต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิล จาก แพทย์หญิง นภารัตน์ จิระวัฒนผลิน อายุรแพทย์ประจำศูนย์ หู คอ จมูก รพ.พญาไท3 มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ รับมือเป็น แก้ไขทัน ลูกปลอดภัยนะคะ ตามมาดูกันเลยจะมีเรื่องใดบ้าง ที่พ่อแม่ควรรู้!
คุณหมอ : ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid Gland) เป็นเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง (Lymphoid tissue) ที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก ซึ่งจะมีบทบาทมากประมาณช่วงวัย 2 – 12 ปี โดยมีหน้าที่ดักจับทำลายเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่จะเข้าสู่ร่างกาย พร้อมกับสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และความสำคัญของต่อมอะดีนอยด์จะลดลงเมื่อโตเป็นวัยรุ่น
ต่อมทอนซิล (Tonsil gland)เป็นเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองซึ่งมีหลายตำแหน่ง ที่พบได้ชัด คือ ในช่องปากที่ผนังคอด้านข้างสามารถเห็นได้เวลาอ้าปาก และบริเวณโคนลิ้น ซึ่งมีหน้าที่ดักจับเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกัน
ทั้งสองต่อมมีหน้าที่เหมือนกันและอยู่ใน กลุ่มเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่เรียงกันเป็นกลุ่มวงในช่องคอ ที่เรียกว่า Waldeyer’s ring ทำหน้าที่คอยดักจับเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย โดยกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย
- ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid Gland)
- ต่อมทอลซิลที่อยู่ด้านข้างหลังโพรงจมูก (Tubal tonsils)
- ต่อมทอนซิลที่อยู่บริเวณผนังคอด้านข้าง 2 ข้าง (Palatine Tonsils)
- ต่อมทอนซิลที่อยู่บริเวณโคนลิ้น (Lingual Tonsils)
สาเหตุของโรคมาจากไหน
สาเหตุที่ทำให้ต่อมอะดีนอยด์โต คือ ภูมิแพ้ การติดเชื้อ และเนื้องอก แต่ที่พบบ่อยในเด็กนั้นก็คือภูมิแพ้และการติดเชื้อ เมื่อใดที่ต่อมอะดีนอยด์โตจนขัดขวางทางเดินหายใจ และส่งผลเสียออกมาในหลายอาการ ได้แก่ อาการทางจมูก อาการทางหู และอาการนอนกรน
ทีมแม่ ABK : อาการเริ่มต้นที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังในเด็กเล็ก
คุณหมอ : อาการที่จะแสดงเมื่อเริ่มต้น คือ อาการทางจมูก เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง อาการทางหู เช่น มีน้ำขังบริเวณหูชั้นกลาง หูชั้นกลางอักเสบหรือมีหนองไหล และ นอนกรน อ้าปากหายใจ กรน พร้อมมีเสียงหายใจเหมือนเป่าปี่ จนถึงการหยุดหายใจขณะหลับ
ทีมแม่ ABK : หากพบความผิดปกติ พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
คุณหมอ : แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยส่วนใหญ่หากตรวจพบว่าต่อมทอนซิลโต ก็อาจสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าต่อมอะดีนอยด์อาจจะโต นั่นก็เพราะทั้ง 2 ต่อมอยู่ใกล้กัน ดังนั้นกรณีได้รับสารภูมิแพ้ที่รุนแรงก็อาจจะกระทบได้ทั้ง 2 ส่วนนั่นเอง การตรวจขนาดต่อมอะดีนอยด์ในเด็กที่ไม่สามารถตรวจได้ แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์ต่อมอะดีนอยด์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแนวทางการรักษา ทั้งนี้ การซักประวัติมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะอาการนำของต่อมอะดีนอยด์โตที่มาด้วยอาการนอนกรน เป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาแนวทางการรักษา
3 คำ จำให้ขึ้นใจ
“ลดฝุ่น เพิ่มภูมิ ป้องกัน”
เทคนิคการดูแลตนเองและลูกน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ต่อมอะดีนอยด์โต
– “ลดฝุ่น” เริ่มจากการทำความสะอาดบ้าน และเครื่องใช้ภายบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ๆ อย่างของเล่น ผ้าห่ม จัดวางตุ๊กตาภายในห้องนอนที่เด็กชื่นชอบไม่ให้มากเกินไป หมั่นล้างเครื่องปรับอากาศเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมฝุ่นอย่างเหมาะสม
– “เพิ่มภูมิคุ้มกัน” ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างเหมาะ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นทานผักหลากสี ทานผลไม้สดที่วิตามินซีสูง นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่นอนดึก
– “ป้องกัน” ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ และเมื่อมีคนใกล้ชิดป่วย นอกจากนี้เด็กรุ่นใหม่มักจะเรียนว่ายน้ำ แต่สิ่งที่พึงระวังเสมอเพื่อช่วยป้องกันอาการป่วยได้อีกทางหนึ่ง คือ หากเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำด้วยนะคะ
แพทย์หญิง นภารัตน์ จิระวัฒนผลิน อายุรแพทย์ประจำศูนย์ หู คอ จมูก รพ.พญาไท3